ประเมินภาวะ Burnout และความเครียด
ประเมินภาวะ Burnout และความเครียด
- Posted by: Pichawee Mekkayai
- Category: Assessment
Results
Burnout Level 2
ผลการประเมินของคุณพบว่า มีสัญญาณของภาวะ Burnout ซึ่งเริ่มเข้าสู่ระดับที่ค่อนข้างเสี่ยง ซึ่งเริ่มเข้าสู่ระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจ มากน้อยตามปฏิกิริยาตอบสนองของแต่ละคน ในระดับนี้บ่งบอกว่าถึงเวลาแล้วที่คุณต้องหาทางผ่อนคลายตัวเอง ก่อนที่ภาวะนี้จะเพิ่มระดับหรือส่งผลเสียต่อสุขภาพ
ผลลัพธ์ของอาการ Burnout นั้นอาจหนักหนาและเกิดผลในทางที่แย่ ๆ กว่าที่คุณคิด เพราะนอกจากจะทำให้ผลงานคุณแย่ลง ทำงานผิดพลาดมากขึ้น ความคิดสร้างสรรค์หดหาย อาจขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน ไม่มีความสุขในชีวิตแล้ว ยังจะกระทบกับชีวิตและความสัมพันธ์ส่วนตัว คุณอาจจะโมโหจนเหวี่ยงใส่คนที่บ้าน หรือปลีกตัวออกห่างจนกระทบความสัมพันธ์ รวมทั้งหากปล่อยไว้นานก็มีสิทธิ์เกิดการป่วยทางจิตใจตามมาได้ด้วย
วิธีป้องกันและวิธีพาตัวเองให้กลับมาสู่ภาวะปกติ
1. ตอบตัวเองให้ได้ว่าคุณทำงานนี้ไปทำไม
การทำงานเพื่อเงินอย่างเดียวนั้นเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาทางจิตใจมาก ทางที่ดีคุณควรหาเวลาคุยกับตัวเองเพื่อตอบให้ได้ว่า คุณทำงานนี้ไปเพื่ออะไร? เพื่อใคร? งานของคุณช่วยทำให้ชีวิตใครดีขึ้นบ้าง? ทำยังไงให้งานของคุณสร้างผลกระทบในทางที่ดีกับคนอื่นได้มากขึ้นบ้าง? คุณค่าทางจิตใจนั้นประเมินค่าไม่ได้ แม้ไม่เกี่ยวกับตัวเงินแต่สิ่งนั้นก็เติมเต็มความรู้สึกว่าชีวิตของคุณมีความหมาย
2. ขอความชัดเจนในเป้าหมายของงาน
หากคุณไม่รู้ว่าหัวหน้าหรือองค์กรคาดหวังอะไรจากคุณ วิธีที่ง่ายที่สุดคือ คุณควรหาทางคุยหรือขอข้อมูลเพื่อให้ความคาดหวังและเป้าหมายในงานชัดเจนขึ้น หากขอคุยแล้วก็ยังไม่ได้ผล คุณอาจต้องกลับไปที่ Job Description และ KPIs ที่เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และกลับมาขอคำยืนยันจากหัวหน้าของคุณอีกครั้ง
3. หากลยุทธ์การจัดการความเครียด
กลยุทธ์ที่ทุกคนจำเป็นต้องมีติดตัวไว้เป็นของตัวเอง แต่ละคนจะมีวิธีผ่อนคลายความเครียดและปล่อยวางจากความกดดันทั้งปวงไม่เหมือนกัน เช่น บางคนอาจนอนอ่านหนังสือที่ชอบ บางคนได้เล่นกับน้องหมาน้องแมว บางคนได้ขับรถไกลๆ
4. ดูแลสุขภาพกายให้เป็นปกติ
มีปัญหาทางจิตใจยังไม่พอ หากมีปัญหาสุขภาพกายทับถมอีกทุกอย่างก็จะยิ่งแย่ลง โดยเฉพาะกำลังใจที่จะต่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ ดังนั้นการดูแลสุขภาพกายให้ปกติสุขจึงสำคัญมาก และยิ่งอายุคุณขึ้นเลขสามไปแล้ว จะยิ่งรู้ว่าสำคัญมากๆๆๆๆ เพราะหากกายป่วย แม้ใจสู้แค่ไหนก็จะมีข้อจำกัดอยู่ดี
5. ทำสิ่งที่เป็น Passion ของคุณควบคู่ไปด้วย
หากงานที่ทำไม่ได้ตอบโจทย์ความสุขและ Passion ของคุณ คุณควรจัดการตารางเวลาสำหรับงานอดิเรกหรืองานเสริมที่คุณหลงใหลเพิ่มเข้าไปด้วย แค่การเลิกงานแล้วนอนดูละครนั้นไม่ช่วยในทางจิตใจ แต่คุณต้องทำสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมายมากกว่านั้น
เหล่านี้คือคำแนะนำง่าย ๆ สำหรับการป้องกันและดึงตัวเองกลับออกมาจากภาวะหมดไฟ แต่หากที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะพยายามด้วยตัวเองแค่ไหนก็ยังไม่สำเร็จ คุณอาจจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ชิด เพื่อนสนิท หรือแม้กระทั่งมืออาชีพอย่างนักจิตวิทยา จิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัดซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดแต่อย่างใด
Burnout score
‘หมดไฟ’ ปัญหาใหญ่ของคนทำงาน Burnout หรือเรียกว่า ภาวะหมดไฟ คือ ภาวะที่อ่อนล้าหมดแรงทั้งร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ อันเนื่องมาจากการถูกกดดันหรือตกอยู่ในความเครียดมาเป็นระยะเวลานาน เป็นภาวะที่สะสมความเครียดไว้เป็นระยะเวลานาน ซึ่งหากแค่เหนื่อยหรือหมดแรงตามปกติ คุณอาจนอนพักซักคืนหรือลาพักร้อนซัก 2-3 วันก็ดีขึ้น แต่อาการหมดไฟนี้เรื้อรังและลงลึก
แล้ว Burnout ต่างจากเครียด ตรงไหน?
ดูเหมือนว่าความเครียดจะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาสั้น ๆ คุณอาจชวนแฟนไปดูหนังที่ชอบซักเรื่อง ชวนแก๊งเพื่อนไปร้องคาราโอเกะ หรือขับรถไปทะเลช่วงวันหยุด แล้วความเครียดก็หายไป แต่ Burnout จะอยู่ยาวนาน และหายยากกว่า และเกิดผลกระทบมากกว่า เพราะมันอาจจะทำให้คุณตัดสินใจลาออกหรือหนีหายไปเลยก็ได้ อันเนื่องมาจากความรู้สึกว่า สิ่งที่ทำอยู่ไร้คุณค่า หรือไม่มีใครมองเห็นความพยายามรวมทั้งผลงานที่คุณทำ
อะไรที่ทำให้คุณ Burnout?
ภาวะนี้เกิดได้หลายสาเหตุ ที่พบได้มากคือ
- การทำงานที่ไม่มีอำนาจตัดสินใจด้วยตัวเอง คุณจะต้องถูกหัวหน้าหรือใครบางคนจู้จี้จุกจิกไปทุกรายละเอียด จนคุณไม่สามารถทำหรือเป็นตัวของตัวเองได้เลย
- เป้าหมายและค่านิยมในชีวิตของคุณไม่ไปในทิศทางเดียวกับทีมหรือบริษัท เช่น องค์กรอาจให้ความสำคัญกับคนที่ทำงานหนัก ทุ่มเท ทำงานหามรุ่งหามค่ำ แต่คุณให้ความสำคัญกับการมีเวลาให้ครอบครัว ต้องมีสมดุลของชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว (Work-life balance) แบบนี้ก็จะทำให้คุณเกิดอาการหมดไฟได้ในที่สุด
หรืออาจมีสาเหตุมาจากเรื่องอื่น ๆ เช่น:
- เป้าหมายหรือความคาดหวังในงานไม่ชัด ทำตัวไม่ถูก
- ทำงานท่ามกลางปัญหาการเมืองในองค์กร ความขัดแย้ง
- ทำงานกับคนที่ไม่รับผิดชอบ ความสามารถไม่ถึง หรือระบบการทำงานที่ไม่ดี
- ภาระงานโหลดหนักมากเกินไป
- ไม่ได้รับการดูแลและสนับสนุนที่ดีจากหัวหน้า หรือองค์กร
- ทุ่มเททำงานแต่ไม่มีใครมองเห็นความพยายามหรือผลงาน
- งานซ้ำซาก น่าเบื่อ ไม่ท้าทายความสามารถ
หากพบว่าตนเองกำลังเผชิญภาวะ Burnout และความเครียด และต้องการความช่วยเหลือหรือคำปรึกษา สามารถพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาตามช่องทางที่คุณสะดวกได้
Author: Pichawee
1 Comment
Leave a Reply Cancel reply
You must be logged in to post a comment.
ดีมากครับ ได้เข้าใจตัวเองว่าต้องทำตัวอย่างไร